000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > มิติเสียง... จำเป็นหรือไม่ในระบบงานเสียงคอนเสิร์ต
วันที่ : 26/01/2016
7,495 views

มิติเสียง... จำเป็นหรือไม่ในระบบงานเสียงคอนเสิร์ต

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เมื่อ 70-80 ปีมาแล้ว ระบบเสียงที่เราฟังๆ กัน ทั้งในบ้านและตามงานแสดงจะเป็นระบบโมโนเท่านั้น ยังไม่มีการนำเสนอในระบบแยกทิศทางซ้าย-ขวา หรือสเตอรีโอ พวกเราหรือวงการก็พอใจกันอยู่แค่นั้น จนเมื่อมีใครสักคนตระหนักว่า เวลาเราไปฟังการแสดงสดๆ มันให้อารมณ์ ความตื่นตัว บรรยากาศได้ดีกว่า ตอนฟังเสียงแบบโมโน ความคิดนี้ได้พัฒนาต่อมาสู่ระบบเสียงสเตอรีโอ เริ่มกันตั้งแต่การทดสอบทดลองระบบเสียงนับ 10 ร่อง โดยใช้ไมโครโฟนรับเสียงเรียงจากซ้ายมาขวานับ 10 ตัว รับเสียงจากวงดนตรี ไมค์แต่ละตัวก็ต่อเข้าสู่ภาคขยายไปออกลำโพงรวม 10 ชุด 10 ร่องเสียง (ลำโพงคงฟังอยู่อีกห้อง) นับเป็นระบบหลากห้องเสียง (multi-channel) แรกของโลกก็ว่าได้ (น่าจะเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว)

                จากการทดลอง ได้มีการค่อยๆ ลดจำนวนร่องเสียงลงเรื่อยๆ พบว่า อย่างน้อยที่สุดต้องใช้กี่ร่อง จึงจะยังคงอารมณ์และบรรยากาศ ดุจไปฟังการแสดงสดอยู่ ก็พบว่า ต้อง 3 ร่อง คือ ซ้าย, กลาง, ขวา สังเกตว่า มีกลาง (center) ด้วย จนนักฟัง นักวิจารณ์ 2-ch (stereo) บางท่านพยายามเปิดประเด็นว่าเพื่อเสียงสมจริงที่สุด ควรต้องมีเสียงร่องกลางด้วย ควรต้องมีเสียงร่องกลางด้วย (คือบันทึกมา 3 ร่องโดยตรง หรือ 3-ch)

                ปัจจุบัน ด้วยการออกแบบเครื่องเสียงที่ดีเลิศ ไม่ว่า ภาคเล่น, ภาคปรี, ภาคขยาย, ลำโพง, การติดตั้งระดับเทพ ทำให้เราพบว่า แค่ 2-ch ก็ให้มิติเสียงตรงกลางได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่จำเป็นต้องมี หรือบันทึกเสียงร่องกลางมาก็ได้ และนำไปสู่การยอมรับระบบเสียง 2-ch เพื่อการฟังเพลงโดยทั่วไป ตราบจนทุกวันนี้

                การถ่ายทอดเสียงด้วยระบบ 2-ch (stereo) ทำให้ได้มิติเสียง (ตำแหน่ง, ทรวดทรง) ของเสียง เวทีเสียง (บรรยากาศ) ที่เทียบเคียงได้กับการไปฟังการแสดงสดจริงๆ

                นั่นก็หมายความว่า ถ้าต้องการเสียงสมจริง ตรงกับการแสดงสด เราต้องติดตั้งเครื่องเสียงให้ได้มิติเสียง และบรรยากาศดีที่สุด ไม่ใช่ติดตั้งกันลวกๆ ตามมีตามเกิด หรือผิดๆ ถูกๆ โดยไม่คำนึงถึงมิติเสียง หรือบรรยากาศเสียง

                แน่นอน ความจริงข้อนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับชุดเครื่องเสียงฟังเพลงที่บ้าน หากแต่ต้องครอบคลุมถึง “ระบบเสียงในงานคอนเสิร์ต” ด้วย

ความเข้าใจผิด

                พวกติดตั้งระบบเสียงคอนเสิร์ต หรือระบบเสียงในห้องแสดงดนตรีมักคิดแต่ว่า ทำให้เป็นระบบเสียงสเตอรีโอตามกระแสก็พอแล้ว ไม่ต้องไปสนใจเรื่องมิติ หรือบรรยากาศอะไร เราจึงได้ฟังระบบเสียงตามห้องแสดงดนตรี ตามสถานบันเทิง, โรงละคร, หอประชุม ไม่ว่าโด่งดังแค่ไหนในบ้านเราแทบไม่ต้องถามถึงมิติเสียงอะไรทั้งนั้น อย่างเก่งก็เป็นโมโนฟุ้งกระจาย แทบไม่แยกสเตอรีโอซ้าย-ขวาอะไรเลย แม้แต่เสียงโฆษก หรือพิธีกรพูดก็ฟุ้งกระจายไม่คมชัดอะไรเลย

                ช่างติดตั้งคงคิดแค่ว่า ก็ของจริงมันเล่นอยู่ตำตาให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เล่นอยู่ตรงไหน นักแสดง, นักร้องอยู่ตำแหน่งใด จะไปสนใจอะไรกับมิติเสียงกันอีก

ความจริงคืออะไร

                ลองดูหนังในโรงหรือที่บ้าน ถ้าภาพกับเสียงไม่สอดรับกันทั้งตำแหน่งที่ทาง ทั้งบุคลิกของเสียง จะน่ารำคาญขนาดไหน

                รถวิ่งมาจากทางซ้าย แต่เสียงฟุ้งกระจายแทบทั้งจอ แทบฟังไม่ออกว่า เสียงมาจากซ้าย

                คนพูดตัวอ้วนใหญ่ แต่เสียงผอมบาง

                เรือบิน บินมาจากที่ไกล บินเข้ามาหาเรา แต่เสียงกลับฟุ้งไปทั้งจออยู่ตรงนี้ตลอด ไม่รู้สึกว่า มันเริ่มจากไกลออกไปแล้วค่อยๆ ดังขึ้นไ ขณะที่ใกล้เข้ามาหาเรา

                ดูหนังคอนเสิร์ตที่เป็นวง มีการวางชิ้นดนตรีไกล, ใกล้เป็นลำดับชั้น หรือ layer อาจมี 3-4 แถว ถ้าเป็นวงออร์เคสตราก็มากกว่านั้น มีทั้งลำดับตื้นลึกไล่เรียงกันจากหน้าไปหลัง และจากซ้ายไปขวา ถ้าเสียงเอาแต่ฟุ้งๆ อยู่ในระนาบเดียวกันตลอด มันจะขัดกับสิ่งที่ตาเห็นขนาดไหน

                แถมเสียงดนตรีแต่ละชิ้น นักร้องแต่ละคน ก็ฟุ้งกระจายล้ำเหล่ือมกันและกัน มั่วไปหมดทั้งวง แล้วมันจะฟังได้ศัพท์ ได้เรื่องราว ตัวตน เป็นชิ้นเป็นอันได้อย่างไร มีแต่ความสับสน เจี๊ยวจ๊าวไปหมด ไม่มีช่องไฟระหว่างตัวโน้ต ระหว่างคำร้อง คำพูด (พิธีกร) ระหว่างชิ้นดนตรี เสียงอื้ออึงไปหมด

                เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรากับระบบเสียงการแสดงทุกค่าย ทุกเวที ทุกสถานที่ ไม่ว่า ที่ไหน ใหญ่เล็กแค่ไหน

                สิ่งที่ช่างเสียง, เจ้าของการแสดง, เจ้าของสถานที่ควรทราบหรือควรตระหนักให้มากก็คือ

                1. ถ้าตำแหน่งของเสียงตรงกับตำแหน่งจริง มันจะให้ความชัดเจน ติดตามได้ สมจริง รู้เรื่อง มากขึ้นมาก รวมทั้งได้ อารมณ์ มากขึ้นเยอะ

                2. ถ้าเสียงมี ทรวดทรง และขนาด สอดคล้อดกับรูปลักษณ์ของนักร้อง หรือเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ จะเพิ่มความสมจริง คล้อยตามได้มากๆ อีกทั้งช่วงดนตรีโหมหลายชิ้น, นักร้องหลายคน, ร้องประสานเสียง ก็จะจำแนกแยกแยะ ฟังออกว่า ใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร ไม่ผสมปนเปมั่วเป็นก้อนเดียวกันไปหมด

                3. เมื่อมิติดี, ช่องไฟดี, ทรวดทรงดี, ตำแหน่งดีและนิ่ง เราจะพบว่า ผู้ฟังไม่ว่านั่งตรงไหน จะตรงกลาง จะเฉียงซ้าย เฉียงขวา จะอยู่ชั้นบน, ชั้นล่าง จะรู้สึกว่า นักดนตรีแต่ละคน แต่ละชิ้น แต่ละตำแหน่งในวง รวมทั้งนักร้อง, พิธีกร, โฆษก ก็ยังคง ยืนพูด, ยืนร้อง, ยืนเล่น อยู่ในตำแหน่ง “ตรงนั้น, ตรงโน้น” สมดังตาเห็นทุกอย่าง ไม่รู้สึกว่า เสียงทั้งหมดมันเอียงกะเท่มาทางตำแหน่งนั่งฟัง หรือจมติดเวที หรือลอยฟุ้งติดเพดาน เหมือนไปฟังการแสดงสดจริงๆ ที่ไม่มีระบบขยายเสียงช่วยใดๆ

                4. จะพบว่า เสียงทั้งหมดแจ่มชัด, แยกแยะ น่าฟังขึ้น

                5. ปัญหาการก้องของห้องฟังที่ไม่สมบูรณ์ จะเหมือนลดลงหรือถูกผลักออกไปพ้นความสนใจ เพราะมิติเสียงที่ดีจะดึงดูด และแย่งความสนใจมาหมดจนลืมเรื่องเสียงก้อง

                6. เมื่อมิติดี เราจะพบว่า ไม่ต้องเปิดระบบเสียงดังมากๆ (จนอื้ออึง แสบแก้วหู) ก็ยังกลับฟังได้ชัดถ้อยชัดคำได้ตลอด ทำให้ระบบเสียงทั้งหมดทำงานเบา ไม่ถึงจุดอิ่มตัวของมัน ผลคือความเพี้ยนลดลง เสียงจะฟังสบายหูขึ้น ไม่แข็งกระด้างจัดจ้าน การปรับแต่ง EQ ของระบบเสียงจะปรับง่ายขึ้น เข้าเป้าง่าย เสียงจะคมชัดขึ้น (หน้าคลื่น หรือหัวโน้ต หัวคำร้องจะชันขึ้น จึงชัดขึ้น) อีกทั้งความรู้สึกการไล่เสียงค่อยสุดไปดังสุดจะกว้างขึ้น เรียกว่า dynamic range และ contrast ratio ของเสียงดีขึ้น เพิ่มความสมจริงยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเอาแต่เร่งดังๆ อย่างทุกครั้ง นอกจากนั้น การไม่ต้องเร่งกันลูกเดียว ทำให้โอกาสการกระตุ้นการสะท้อนก้องของห้องฟัง ห้องแสดง ก็ลดลงได้มาก

                7. จะเหมือนกับว่า เสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ในกรณีที่เราไม่สามารถแสดงในสถานที่ปิดโดยเฉพาะได้ หรือขณะแสดงมีเสียงของผู้ชมดังเสริมขึ้นมา เสียงกวนเหล่านี้จะเหมือนลดลงได้ (เป็นเรื่องของจิตศาสตร์ทางเสียง หรือ psychoacoustic)

มิติเสียงดีขึ้น

                ข่าวร้ายคือ การจะติดตั้ง, จูนระบบเสียงให้ได้มิติระดับเทพเป็นเรื่องยากทีเดียว ต้องพิถีพิถันทุกกระเบียดนิ้ว สุ้มเสียงต้องลงตัวเที่ยงตรงที่สุดก่อน จึงจะมีโอกาสจูนมิติให้ดีได้ ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน ทุกจุด ระดับนักเล่นเครื่องเสียงเทพหูทองของเครื่องบ้าน แต่ขอยืนยันว่า อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อมเพ้อฝัน

                นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ตอกย้ำว่า การติดตั้งเครื่องเสียงระบบสาธารณะ ระบบคอนเสิร์ต ต้องพิถีพิถันสุดยอดเช่นกัน ดุจเดียวกับนักเล่นเครื่องเสียงบ้านหูทองเทพทีเดียว

 

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459